ความรู้ที่หายไป

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผมย้ายบ้านครับ

พอได้บ้านใหม่ก็เลยต้องจัดหนังสือที่มีอยู่ทั้งหมดหลายร้อยเล่ม จัดไปจัดมา ก็พบว่าหนังสือธุรกิจการตลาดที่ตัวเองเก็บสะสมมาสิบกว่าปีนั้นราวๆ 40% เป็นหนังสือที่เริ่มจะล้าสมัย บางเล่มยังนำความรู้ที่มีอยู่ในนั้นมาปรับใช้กับปัจจุบันได้อยู่บ้าง แต่ก็นะ หลายเล่มใช้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มที่อิงอยู่กับกระแสเทคโนโลยี พอมาอ่านอีกทีก็กลายเป็นความรู้พื้นๆ ของทุกคนไปแล้ว

ยกตัวอย่างนะครับ อย่างหนังสือที่เคยซื้อมาตอนปี 2010 Social Media เป็นเรื่องใหม่คนสนใจมาก มีคนเขียนถึงปรากฏการณ์นั้นมากๆ แต่ตอนนี้ Social Media มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แพลตฟอร์มแต่ละแห่งต่างก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งตอนนี้มันก็มี Clear winner แล้วว่าเป็น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, LINE, Tiktok, Pinterest ฯลฯ

นี่ถ้าเราไม่ได้มานั่งจัดหนังสือครั้งนี้ เราอาจจะยังจะไม่รู้ตัวว่าความรู้อะไรบ้างที่มันเริ่มหายไปกับกาลเวลา

พอคิดได้แบบนี้ ผมก็เลยเริ่มคิดได้ว่า การกล้าที่จะละวาง (หรือแม้กระทั่งทิ้ง) ความรู้เดิม สำคัญพอๆ กับความพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่เติมเข้ามาในหัว แต่การที่เราจะละวางความรู้เดิมได้มันยากมากเลย เพราะการที่เราเป็นเราได้ในทุกวันนี้ก็เพราะไอ้ความรู้ที่เราได้มาในอดีตนั่นแหละ

สเตตัสนี้เลยอยากเขียนไว้เป็น #notetoself เตือนใจตัวเองเป็น ACTION สั้นๆ 5 ข้อ และบอกกับเพื่อนๆ รอบตัวว่า

1. อย่าหยุดเรียนรู้
อันนี้เหมือนจะตรงตัว แต่หลายคนพอทำงานไปนานๆ เราจะเริ่มมีข้ออ้างว่า “เราไม่มีเวลา” “เราต้องการเวลาไปทำงาน” “พวกนักอ่านแม่งไม่ทำหรอก เอาเวลาไปทำงานดีกว่า” มันจะมีพวกเสียงในหัวบ้าบออะไรแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นการที่เราจะแน่ใจได้ว่าเราไม่ได้หยุดเรียนรู้คือ Make time เราต้องจัดเวลาที่ชัดเจนในการเรียนรู้ เพื่อหาทางที่ดีกว่าในการพัฒนาผลลัพธให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะชีวิตคือการผิดพลาดน้อยลงเรื่อยๆ

2. อย่าหยุดทดลอง ทดลองแล้วก็ปฎิบัติ
ผมเคยได้ยินคำว่า “ติดตำราก็งมงาย ปฎิเสธทฤษฎีก็ตื้นเขิน” แล้วชอบคำนี้มาก ผมเคยเจอหลายๆ คนที่เป็นนักอ่าน แล้วก็อ่านมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ไม่ได้เอามาทำสักที เลยกลายเป็นได้แค่ว่า รู้นะ อ่านมาแล้ว แต่พอไม่ได้เอามาทำ มันก็ไม่ไปไหน สิ่งสำคัญที่ผมเจอๆ มาก็คือการพูดมันง่ายกว่าทำอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องทำตัวเป็น ‘นักทดลอง’ ให้ได้ก่อนเป็นนักปฎิบัติ แบบที่คนเขาพูดๆ กันว่าเริ่มทำเล็กๆ ก่อน พอมีความสำเร็จเล็กๆ แล้วค่อยต่อยอดนั่นล่ะ

3. อย่าจำกัดรูปแบบการเรียนรู้
คนรอบๆ ตัวผมที่ชอบ like, share สเตตัสกันอยู่นี่เท่าที่ผมไปส่องๆ ดู คุณเป็นนักอ่านนะ ผมอยากจะบอกคุณว่าความรู้มันมาได้หลายทาง เช่น หนังสือฟัง Podcast ฟังและคุยใน Clubhouse หรือแม้กระทั่งมาจากการพูดคุยในร้านกาแฟ แต่ไม่มีอะไรดีกว่าการลงมือทำจริง เพราะการเรียนรู้จะไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ ถ้าเราได้แต่ “ความรู้” แต่ไม่ได้ “ทักษะ”

4. ถาม feedback จากคนอื่น
หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบ แต่ผมว่ามันสำคัญนะ คือการที่เราถาม feedback จากคนอื่นอยู่เรื่อยๆ แม้ว่ามันจะไม่น่าฟังก็ตาม แต่ถ้าเราถามบ่อยๆ ว่า “เราทำอะไรได้ดีกว่านี้อีกบ้าง” เราจะได้รับการสะท้อน มีคนที่ช่วยเรามอง มันก็จะทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น ไม่งั้นเราอาจจะไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไรก็ได้

5. ทิ้งให้เป็น
เมื่อได้ Feedback + ทดลอง + ลองทำ แล้วก็ต้องทิ้งความรู้เก่าให้เป็น

ถ้าคุณมีข้อที่ 6, 7, 8, 9, 10 ช่วยเติมหน่อยมาใน Comment หน่อยนะครับ

เรื่องของไดอารี่ 2020

Leather covered vintage ntoebook on an open diary on a dark wooden board

เรื่องของไดอารี่วันนี้ผมมีโอกาสอ่านหนังสือ “ล้ม ลุก เรียน รู้” ของพี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ครับ สารภาพว่ายังอ่านไม่จบ แต่อ่านมาครึ่งค่อนเล่มแล้วชอบทุกตอน เพราะพี่โจ้เขียนสนุก สั้นกระชับ ได้ข้อคิดดีๆ เยอะมาก (Short – Sharp -Sweet ว่างั้น) รู้สึกเหมือนว่าตัวเองได้อ่านไดอารี่ของพี่เค้า

พอนึกถึงคำว่า ‘ไดอารี่’ ผมเลยย้อนคิดได้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตผมผ่านมา 40 กว่าปีล้วนแล้วแต่มีไดอารี่เข้ามาเกาะอยู่กับจังหวะชีวิตไม่น้อย

ย้อนกลับไปสมัยยุค 80 คุณครูสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษที่โรงเรียนก็จะสอนให้เด็กๆ ได้หัดเขียนไดอารี่ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้หัดเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองในชีวิตประจำวัน แต่ก็เป็นแค่การหัดเขียนพอเรียน

จบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ผมเริ่มต้นอาชีพเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต้องทำมาหากินด้วยการเขียน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของกลุ่มผู้จัดการท่านคงสังเกตเห็นความอ่อนด้อยของเด็กคนหนึ่งที่อาจจะยังไม่รู้เรื่องรู้ราว เลยกรุณาสอนวิธีการเขียนหนังสือให้ โดยมีอยู่วันหนึ่ง แกก็เรียกมาคุยว่า

“ปองไปซื้อสมุดมาเล่มนึง เขียนเป็นไดอารี่แล้วส่งให้พี่วรรณ (เลขาคุณสนธิ ณ เวลานั้น) ทุกเช้าตอน 8 โมง ผมจะอ่านด้วยตัวเองแล้ววิจารณ์ให้ เวลาเขียนข่าวจะได้อ่านรู้เรื่อง”

ผมก็พาซื่อถามแกไปตรงๆ “เขียนเรื่องอะไรดีล่ะครับ”

“เขียนได้ทุกเรื่อง ในชีวิตเจออะไร ทำอะไร มันคือไดอารี่”

บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นเกร็งมากเพราะชีวิตของนักข่าวตัวเล็กๆ คนนึงมันไม่ได้มีเรื่องราวอะไรเท่าไหร่ จะมีก็แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าคุณสนธิก็อ่านทุกวันติดต่อกัน 1 เดือน แล้วเขียนวิจารณ์กลับมาให้ทุกๆ วัน

จากนั้นพอเขียนคล่องขึ้น แกก็เริ่มมอบวิธีคิดให้ โดยให้ผมเข้าประชุมข่าวเช้าร่วมกับพี่ๆ นักข่าวมากประสบการณ์ของกลุ่มผู้จัดการด้วย ผมเลยได้เข้าใจวิธีคิด วิธีเขียน ระบบบรรณาธิการข่าว การสัมภาษณ์ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เวลาผ่านมาราวๆ ช่วง 2000-2005 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งได้รับความนิยมใหม่ๆ ในบ้านเรา ยุคนั้นมีเว็บไซต์แนวไดอารี่ออนไลน์เกิดขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Diaryhub, DiaryIs, Storythai แทนที่จะเขียนอยู่บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ผมก็เริ่มไปเขียนในแพลตฟอร์มเหล่านั้น จนต่อมาคำว่าไดอารี่ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นศัพท์ที่เป็น Global มากขึ้น นั่นก็คือ Blog, Vlog

จากคนชอบอ่านไดอารี่ ผมเลยกลายเป็นคนเขียน Blog คนหนึ่งที่ชอบเสือกเรื่องชาวบ้าน ต้องอ่านเรื่องราวต่างๆ ผ่าน Blog หลากหลายช่องทาง เช่น Exteen, Bloggang, Oknation พออ่านเรื่องไทยๆ มาพอแล้ว ผมก็แอบไปดูว่าเมืองนอกใช้อะไรเขียน Blog ก็เริ่มไปเจอ WordPress, Drupal, Yahoo! Geocities, Yahoo! 360

ความสนใจบนโลกออนไลน์ของผมที่เริ่มจากไดอารี่ มาบล็อก มาเว็บบอร์ด มาถึงการทำงานกับบริษัทอินเทอร์เน็ต บริษัทเทคโนโลยี มันเลยเถิดไปถึงการคบเพื่อน เจอะเจอคนในแวดวงอินเทอร์เน็ตไทย ทำ Blog เป็นอาชีพที่จริงจังขึ้น และทำมาหากินในวงการนี้มาทั้งหมดนี้เกิดจากการแค่ชอบอ่านชอบคิดชอบเขียนไดอารี่เท่านั้นเอง

ที่เขียนร่ายรำมายาวนานไม่มีอะไรหรอกครับ ผมแค่จะบอกว่า ระยะหลังนี้ผมมาทำธุรกิจ แต่พอไม่ได้เขียนนานๆ ก็เซ็ง บวกกับแรงเชียร์ของเพื่อนๆ รอบตัวว่า “น่าจะกลับมาเขียนได้แล้ว” ทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นแรงผลักดันให้ผมจะกลับมาเขียนหนังสืออีกทีในรูปแบบ Public Diary ผมจะไม่ได้เปิดเพจอะไรใหม่ ผมอยากเขียนสนุกๆ ใครคิดว่าน่าอ่านก็ฝากแชร์ ฝาก Follow กันไป คิดอะไรก็จะเขียนออกมาครับ ไม่ confirm ว่าจะมาได้ทุกวัน

แต่จะเขียนบ่อยๆ ให้มีประโยชน์

รีวิว Bon Jovi: 2020

Bon Jovi 2020

ทำไมถึงเขียน: โทษฐานเป็นแฟนวงดนตรีรุ่นเก๋ากึ๊กอย่าง Bon Jovi เลยต้องเขียนอะไรออกมาสักหน่อย ไม่งั้นชีวิตจะมีแต่งาน ผมเขียนเพื่อบำบัดต่อม Content Creator ของผมล้วนๆ ไม่มีการสนับสนุนจากค่ายเพลงใดๆ ทั้งสิ้น ผมแค่หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณฟังเพลงได้สนุกขึ้นเท่านั้นครับ ไม่ใช่บทความวิจารณ์ดนตรีเข้มๆ แบบฟันธงอะไรทั้งสิ้น 😀

อ่านเพิ่มเติม “รีวิว Bon Jovi: 2020”

Content แบบไหนที่ทรงคุณค่า และมีความหมาย?



Content ที่ดีของคุณคืออะไรครับ

วันนี้ด้วยความเวิ่นเว้อส่วนตัว ผมทวีตออกไปว่า

Content without value is meaningless.

ที่ทวีตไปอย่างนั้นเพราะคิดว่า Content ที่ผมเจออยู่รอบตัวผ่านทาง Social Media ทุกวันนี้ หลายครั้งดี มีคุณค่า มีประโยชน์กับชีวิตมากเลย แต่หลายครั้งมันก็ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเลยล่ะครับ

หลายชิ้นดูออกเลยว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพียงขอให้อยู่ในฟอร์แมตที่กำหนด และนำขึ้นได้ก็พอ

หลายชิ้นถูกสร้างมาแบบเอียงกระเท่เร่ด้วยอคติ ก่อความเกลียดชัง

หลายชิ้นถูกสร้างมาแบบเร่งด่วน จนขาดการกลั่นกรอง ขาดเวลาตกตะกอน เพราะเวลาไม่คอยท่า

ทันใดนั้น ศร แห่งเพจ คิดมาก ก็แวะมาตอบแบบคมๆ (ตามสไตล์ของเขา) ว่า

“สิ่งสำคัญคือ การรู้ว่า คุณค่าไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว เนื้อหาหนึ่งอาจมีคุณค่ากับกลุ่มคนหนึ่ง แต่ไม่มีคุณค่ากับอีกกลุ่มคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ต้องหาให้เจอว่า เนื้อหาของเรามีคุณค่ากับกลุ่มคนไหนครับ”

ผมเห็นด้วย… เพราะคุณค่าที่เรายึดถือ กับคุณค่าที่คนอื่นยึดถือมันคนละอย่างกัน การตัดสินว่า Content ใดมีคุณค่าหรือไม่ จุดสำคัญคือ คุณคิดว่ามันมีค่ากับใคร มีค่ากับคนกลุ่มไหน

โดยส่วนตัว ผมแอบคิดดังๆ ว่าคนทำ Content ทุกคน ก่อนจะลงมือทำ ก่อนคิดว่าจะทำสั้นหรือยาว จะวิดีโอ จะอัลบั้มโพสต์ จะพอดแคสต์ หรือจะฟอร์แมตไหนก็ตาม

น่าจะคิดให้หนักว่าจริงๆ แล้ว Content ของเราทำไปให้ใครอ่าน ทำให้ใครเสพ ลองจินตนาการดูว่าถ้าคนอ่านคนนั้นเป็นเพียงคนๆ เดียว คนๆ นั้นเขามีความสุขกับ Content ของเราไหม ความต้องการเขาถูกเติมเต็มไหม

Content ที่ดี คือ Content ที่เป็นประโยชน์ หรือเติมเต็มความต้องการของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

ความเห็นที่มีต่อ หนังสือ Presentation Canvas ของคุณเก่ง RGB72


เพิ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “Presentation Canvas เปลี่ยนการขายเป็นการเล่าเรื่องให้โดนใจ” ของคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม เจ้าสำนัก Creative Talk จบจริงจังเมื่อช่วง Long weekend ที่ผ่านมา สัญญากับคุณเก่งเอาไว้ว่าจะมารีวิว ก็เลยมาตามสัญญาครับ

“Presentation Canvas” เป็นหนังสือที่คุณเก่งแกเขียนเหมือนภาษา Social ดีครับ ได้อารมณ์เหมือนคุณเก่งแกมาเล่าให้ฟังอยู่ข้างๆ ว่าการทำ Presentation ที่ดีมันไม่ใช่การปิ้ง PowerPoint นะเว้ย แต่มันเป็นการเล่าเรื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อะไรบางอย่างในการ Present และให้คนดูเขา Action ต่างหาก

ผมชอบหนังสือเล่มนี้ตรงที่คุณเก่งพยายามออกแบบ Framework (ที่ผ่านการปรับปรุงมาแล้วหลายรอบ) บวกกับให้ตัวอย่างที่ชัดเจนจนนำไปทำตามได้จริง ไม่ใช่หนังสือที่ใช้ศัพท์สวิงสวายเพื่อแสดงภูมิแต่อย่างใด เป็นหนังสือที่คิดถึงคนอ่านค่อนข้างมากครับ นี่คือที่ชอบ

Presentation Canvas ที่คุณเก่งออกแบบ

ในทางตรงข้ามกัน ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยตรงที่ว่า ถ้ามองหนังสือเล่มนี้ในฐานะ Content ช้ินหนึ่ง ผมคิดว่ามันควรจะเป็น Content ประเภท Workshop มากกว่า ไม่จำเป็นต้องทำออกมาเป็น “Format หนังสือ” ก็ได้ เพราะตัวหนังสือพยายามออกแบบมาให้เราติ๊ก “Check-list” และลอง “ทำตาม” มากกว่าอ่านเอาความ แต่ก็เป็นข้อสังเกตที่แทบจะมองผ่านไปได้เลย และคงจะดีมากถ้าหากว่ามีตัวอย่างของการ Presentation แบบต่างๆ ของคนอื่นๆ มาบ้าง

อย่างไรเสีย มั่นใจว่าคุณเก่งก็ทำ Workshop ต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าอ่านจบก็ตามไปเรียนกับคุณเก่งในคลาสก็แล้วกันนะครับ หรือจะดูตามคลิปที่แกไปบรรยายตามองค์กรต่างๆ มาก็ดีครับ

ผมว่าหนังสือโอเคเลยนะ ให้ 8/10 เลย อ่านได้ทุกเพศทุกวัย อ่านง่าย อ่านสบาย ทำตามได้จริง ที่เหลืออยู่ที่การฝึกฝน หัดเล่าบ่อยๆ และหาสไตล์การเล่าที่เป็นตัวคุณเองเท่านั้นล่ะครับ

Diary: สมดุลของชีวิต

วันนี้วันปิยะ… ผมชอบวันหยุดอยู่อย่างหนึ่งครับ ถ้าเราไม่ต้องเอาเวลาไปทำอะไรเป็นพิเศษ มันก็จะเป็นวันที่เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ทบทวนสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หลังจากที่นั่งย้อนคิดเป็นสิบๆ เรื่อง มันดันมีแต่เรื่องงานทั้งนั้นเลย

เมื่อเดือนที่แล้ว จำได้ว่าเจอ พี่ตุ๊ก MarketingOops ที่งาน DAAT เราทักทายกันประสาคนคุ้นเคย แต่คำหนึ่งที่พี่ตุ๊กบอกก็คือ “ปอง พี่ดู timeline ของปองมันมีแต่เรื่องงานทั้งนั้นเลย อย่าหักโหมนะ คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนะ ยูน่ะบ้างานมากเลย”

ฟังจบตอนแรกสารภาพว่าผมไม่ได้คิดอะไรมาก (อารมณ์ประมาณว่า เออใช่พี่ ผมบ้างานมาก แต่ผม happy ไงวะพี่) แต่พอวันนี้ได้มาย้อนนึก ผมก็เริ่มคิดได้ครับว่า ถ้าเราปล่อยให้ชีวิตมีแต่มิติของงาน ชีวิตเรามันก็จะแห้งแล้งไม่สมดุลสักเท่าไหร่

ไม่รอช้าผมเสิร์ชหาคีย์เวิร์ด “สมดุลของชีวิต” ปรากฏว่าเจอบทความของเพื่อนผมคนนึงคือ คุณนิ – นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ ที่เขียนเอาไว้ที่ Sanook! Money เรื่อง “สมดุลชีวิต 6 ด้าน

บทความนี้ได้บอกเอาไว้ครับว่า เป้าหมายชีวิตคนเราไม่ควรถูกกำหนดจากมิติของเป้าหมายทางการเงินการงานแต่เพียงอย่างเดียว ถึงเรื่องเงินมันจะสำคัญมากแค่ไหนก็เถอะ แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เราจึงควรที่จะสร้างชีวิตที่สมดุลทั้ง 6 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย

สมดุลชีวิต 6 ด้านประกอบไปด้วย จิตวิญญาณ, การงาน และการเงิน, สุขภาพและร่างกาย, การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง, ครอบครัวและความสัมพันธ์, และสุดท้ายคือ สังคม

ผมเป็นคนหนึ่งที่พอบ้างานมากๆ ก็จะลืมและละเลยมิติอื่นในชีวิต เช่น การดูแลสุขภาพตัวเอง การหาเวลาสร้างความเติบโตทางความคิด การหาความรู้ การดูแลคนที่เรารัก การดูแลสังคมของตัวเอง และท้ายสุดอะไรที่ตอบสนองจิตวิญญาณของเราลึกๆ

มันเลยโคตรกระตุ้นให้เราคิดเลยว่าจากนี้ไป 6 ด้านนี้เราสมดุลหรือยัง เราท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนล้วนต้องการชีวิตที่ดีที่สมดุล ไม่ใช่ชีวิตที่ใครๆ ยกยอสรรเสริญว่าเราสำเร็จในหน้าที่การงาน

จากนี้ไปเราจะสร้างสมดุลให้ได้

นิทานน้องหมา

ขอบคุณภาพของ HaroldMeerveld ทาง flickr

สมัยเด็กๆ ที่บ้านผมเลี้ยงหมาตัวนึงครับ ชื่อ Lazzie (อ่าน แลซ-ซี่) น้องฉลาดมากครับ ฉลาดถึงขนาดที่ว่าคุณยายผมใช้ให้ไปจ่ายตลาดแทนก็ได้ เพราะปกติเวลายายไปเดินตลาดก็จะพา Lazzie ไปด้วย เค้าก็เลยจำทางได้ ตลอดจนแม่ค้าในตลาดก็จำหน้าได้

ฟังดูเกินจริงมากนะ แต่มันจริงครับ (ถ้าคุณยายผมไม่เล่านิทานหลอกหลานนะครับ 555)

เรื่องมันเกิดจากว่าวันนึงคุณยายผมไม่สบาย เลยลองปล่อย Lazzie เดินไปคน (ตัว) เดียว โดยเอาตะกร้าคล้องคอ หย่อนเงินเอาไว้ในนั้น พร้อมกับเขียนรายชื่อของในตลาดที่ต้องการ แล้วบอกน้องให้ไปเดินรอบตลาด

Lazzie เค้าก็ไปครับ

พอไปถึงตลาดแม่ค้าที่สนิทกับคุณยายก็จะจำได้ว่า Lazzie เป็นมะหมาของคุณยายก็เลยเห็นตะกร้าและ Shopping list พร้อมเงิน ก็เลยจัดการเอากับข้าวใส่ไว้ให้

ด้วยความฉลาดเฉลียว Lazzie เลยเป็นที่รักของทุกคนในบ้าน หลังจากนั้นบ้านผมเวลาจะเลี้ยงหมาตัวใหม่กี่ตัวๆ ก็ลืมเค้าได้ยากครับ ถึงขั้นต้องตั้งชื่อ Lazzie ทุกตัวกันเลยทีเดียว

อวยพรวันเกิดบน Facebook อย่างไรให้มี Last long relationship

วันนี้ผมอยากชวนเพื่อนๆ คุยเล่นๆ ว่าด้วยเรื่องของ “การอวยพรวันเกิด” บน Facebook ครับ

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดผมฮะ วันนี้ผมก็ทำเหมือนทุกๆ ปีคือโพสต์แสดงความขอบคุณ จะแตกต่างไปจากทุกปีก็ตรงที่ 

1. ผมแค่อยากคุยกับ “บางคน” ไม่ใช่คุยกับ “ทุกคน”

ก็เลย Set ให้เฉพาะคนที่เป็น Friend กันเท่านั้นเห็นข้อความนี้ (เพราะใครไม่ใช่เพื่อนกันก็คงมองว่าไม่เห็นมันจะสลักสำคัญอะไร ก็แค่วันคล้ายวันเกิด คนมันจะแก่ขึ้นอีกปีก็คงเรื่องของมัน) 

2. ตอบขอบคุณเพื่อน “ทุกคน” ที่อุตส่าห์เข้ามาอวยพรวันเกิด ด้วยสาเหตุว่าผมอยากคุยกับเขาจริงๆ ใครที่ผมจำชื่อไม่ได้ เพราะไม่ได้สนิทมาก ผมก็เข้าไปดู Inbox แบบดูทีละคนเลยว่าเราคุยกันมานานแค่ไหน บางคนหายกันไปเป็น 10 ปีไม่ได้คุยกัน เพิ่งกลับมาก็มีครับ

ผลปรากฏว่ายิ่งตอบ เพื่อนที่ห่างหายไปนานก็ยิ่งเห็นครับ มีคนที่เป็น friend กัน 700 กว่าคน (คร่าวๆ ประมาณ 15% ของจำนวนเพื่อนทั้งหมด 4,700 กว่าคน) เข้ามา like status และมีคนที่เขียนอวยพรผมทั้งหมดราวๆ 400-500 คำอวยพร โดยผมตอบทุกคน top up เข้าไปอีก 400 – 500 comment รวมกันแล้วก็ 1,000 กว่า comment พอดี

สงสัยไอ้ความ 1,000 กว่า comment ไปเข้าตาพี่เซ็นแห่ง นสพ. ผู้จัดการเข้า แกเลยเข้ามาถามว่า “ตอบเป็นพัน comment ไม่เหนื่อยเหรอ” ผมตอบพี่เซ็นไปว่า

“เหนื่อยพี่ แต่คุ้ม ได้ update ทุกคนเลย ได้รื้อฟื้นแม้กระทั่งน้องรหัสสมัยมหาลัย คนที่เราเคยคุย เคยรักกันมา แต่จังหวะชีวิตพัดพาให้เราขาดกันไป (แบบที่เขาไม่เคยจะมาอยู่ใน newsfeed เราเลย) บางคนเราเคยเจอจริงๆ ครั้งสองครั้ง มันจำไม่ได้หรอกครับ การได้มาดูเขา one by one ทีละคน มันทำให้เราได้เพื่อนกลับมา น่าดีใจออกพี่”

เขียนมายาวๆ ทั้งหมดนี้ เพียงเพราะผมอยากจะบอกว่า 

อย่าปล่อยให้เพื่อนของเราหายไปตามกาลเวลา อย่าปล่อยให้ algo ของ Social ทำงานเพียงฝั่งเดียว เราเองก็มีหน้าที่ที่จะต้อง catch up กับเพื่อน

แค่ปีละครั้งตอบให้หมดเถอะครับ ก่อนจะหายกันไปตลอดชีวิตโดยไม่เคยมาคุยกันเลย

ประชาธิปไตย (คาราบาว)

วันนี้ผมขับรถพาครอบครัวออกไปกินข้าวเพื่อพักผ่อนเล็กๆน้อยๆ ระหว่างทางเปิด streaming ฟังเพลง Pop ทั่วๆ ไปฟังก็เพราะดีครับ แต่ด้วยบรรยากาศบ้านเมือง จู่ๆ ก็นึกถึงเพลง “ประชาธิปไตย” ของวงดนตรีเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่อย่าง “คาราบาว” ขึ้นมา เลยเปลี่ยนบรรยากาศฟังเพลงให้คึกคักขึ้นมาอีกนิด

เพลง “ประชาธิปไตย” เป็นเพลงที่เป็นชื่อของสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 7 ของวง ออกจำหน่ายเมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2529 โดยทำขึ้นมาตามกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 33 ปีที่แล้ว โดยในอัลบั้มมีเพลงที่สะท้อนปัญหาประชาธิปไตยไว้ในชุด คือ “ประชาธิปไตย” และ “ผู้ทน”

“ประชาชนชาวไทย
ชนชาวไทยเอ๋ย
อย่าพึ่งรีบร้อน
อดตาย อดตาย
กลั้นใจเอาหน่อย แข็งใจเอาหน่อย
ทนเอาหน่อย ทนเอาหน่อย
ทนเอาหน่อย 

ทนไม่ไหวแล้ว…

รีวิวเพลงเฉยๆ ครับ ฟังเพลงเก่าเพราะดีนะ ไม่คิดมากครับ ไม่คิดมาก 

บ้านหลัก ก่อนบ้านเช่า

[คิดดังๆ] เมื่อถึงเวลาที่ทั่วโลกรู้กันว่าเราไม่ควรอัปเดตความคิดของเราไว้ในแค่ Platform ใด Platform หนึ่ง เราก็รู้ว่า Website สำคัญกับเราแค่ไหน เราก็น่าจะอัปเดตความคิดไว้ที่เว็บไซต์ก่อนในบ้านหลักของเรา ก่อนจะลงไปในบ้านเช่าอย่าง Social ใช่หรือไม่?